ถูกขังเพื่อถูกขี่: รายงานเกี่ยวกับธุรกิจปางช้างในเอเชีย
[This post has been translated from English to Thai. You can find the original post here. This translation was made possible with support from World Animal Protection courtesy of a grant from the Open Philanthropy Project.]
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในทวีปเอเชีย ช้างจะถูกเก็บไว้ในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมความบันเทิง เช่น การขี่ช้าง การแสดงช้าง การอาบน้ำช้าง การให้อาหารช้าง การถ่ายรูปช้าง และการชมช้าง แม้ความต้องการของ “การท่องเที่ยวอย่างมีจริยธรรม” จะมีเพิ่มมากขึ้น แต่รายงานจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลแสดงให้เห็นว่า ช้างป่าที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียยังคงประสบกับการทารุณกรรมอย่างแพร่หลายตลอดชีวิต และอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่
รายงานดังกล่าวเป็นผลที่ได้มาจากการทำงาน 10 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพของช้าง 3,837 เชือกที่ใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย อินเดีย ลาว กัมพูชา เนปาล ศรีลังกา และมาเลเซีย ในช่วงเวลานี้ นักวิจัยได้ทำการเยี่ยมชมสถานที่จัดแสดงช้างมากกว่า 350 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ครั้ง ซึ่งพวกเขาดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะทั่วโลกหลายครั้ง ร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวและสมาคมท่องเที่ยวหลายร้อยแห่ง และมีการทำงานร่วมกับสถานที่จัดแสดงช้างในพื้นที่
นักวิจัยพบว่า 63% ของช้างกำลังทุกข์ทรมานจากการอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพความเป็นอยู่แย่มากๆ อีก 30 % กำลังประสบกับการอยู่ในสถานที่ที่มีสถาพความเป็นอยู่ที่แย่ และมีเพียง 7% เท่านั้นที่อยู่ในสถานที่สำหรับการสังเกตการณ์โดยเฉพาะที่มีสวัสดิการสูง มีช้างจำนวน 2,390 เชือก จากกลุ่มแรกที่อยู่ในสถานที่ที่มีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่อย่างรุนแรง มีการล่ามโซ่สั้น การกำหนดตารางกิจกรรมของช้างซึ่งทำตามได้ยาก การจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างช้าง และสภาพความเป็นอยู่ที่ทำให้ทำตามพฤติกรรมตามธรรมชาติได้น้อยมาก
ช้างกลุ่มที่ 2 จำนวน 1,168 เชือก นั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแต่ยังคงอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เพราะช้างต้องอยู่ในสถานที่สำหรับอาบน้ำช้างครึ่งวันหรือเต็มวัน แม้จะแสดงให้เห็นสภาพสวัสดิภาพที่ดีกว่าสนามแข่งม้า แต่ก็ยังมีปัญหาด้านสวัสดิภาพอย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่น การอาบน้ำช้างซ้ำๆในระหว่างวันนั้นสามารถทำลายผิวหนังของช้างและไม่เกิดประโยชน์ด้านสุขอนามัยอีกด้วย สถานที่เหล่านี้มักจะส่งเสริมตัวเองด้วยความเชื่อแบบผิดๆว่าเป็นสถานที่ที่ยึดถือ “จริยธรรมของการไม่ชี่ช้าง” เพื่อปกปิดการจัดการช้างที่อาจจะไม่ดีพอ
ช้างกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มช้างที่มีจำนวนน้อยที่สุด มีเพียง 279 เชือกที่ได้สัมผัสกับสวัสดิภาพขั้นสูง โดยอยู่ในสถานที่สำหรับการสังเกตการณ์เป็นหลัก ซึ่งอนุญาตให้สัตว์เหล่านี้มีพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติและอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ในสถานที่เหล่านี้ ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับช้างได้อย่างจำกัดหรือแทบจะไม่มีเลย แต่สามารถเพลิดเพลินกับการชมช้างได้
นอกจากความทารุณโหดร้ายที่มีต่อช้างที่ถูกขังที่พบในทุกประเทศ ตั้งแต่วิธีการฝึกที่รุนแรงไปจนถึงภาวะโภชนาการที่ไม่ดี นักวิจัยมองว่าการผสมพันธุ์เป็นปัญหาหลักของช้างที่ถูกกักขัง การเพาะพันธุ์ช้างในกรงขังไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการถูกกักขัง แต่ยังลดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับช้างที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวลดลงและสถานที่ท่องเที่ยวพยายามดิ้นรนเพื่อเลี้ยงช้างและจ่ายเงินให้กับคนงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยในการศึกษานี้ยังพบว่าผู้บริโภคมีการเคลื่อนไหวไปสู่ความตระหนักในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น ในปี 2559 นักท่องเที่ยวที่ให้สัมภาษณ์ในประเทศไทยกล่าวว่า การขี่ช้างเป็นกิจกรรมโปรด (จำนวน 36%) และการชมช้างเป็นกิจกรรมที่พวกเขาต้องการน้อยที่สุด (จำนวน 14%) ภายในปี 2562 การได้เห็นสัตว์ป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ (จำนวน 37%) และการชมช้าง (จำนวน 24%) กลายเป็นสองกิจกรรมที่นิยมมากที่สุด นอกจากนี้ 85% ของนักท่องเที่ยวที่ให้สัมภาษณ์ในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะทั่วโลกเชื่อว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับสัตว์ป่า รายงานระบุว่า ความต้องการสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงในรูปแบบของปางช้างที่กักขังช้างที่ลดลงนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการในการแก้ไขปัญหานี้ และยุติการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมนี้ ประการที่สองคือการลดจำนวนช้างที่ถูกกักขังเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ และประการที่สามคือการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของช้างเพื่อกิจการการท่องเที่ยวในปัจจุบันและผู้ดูแลช้าง
เพื่อให้ช้างรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่จะถูกกักขัง รายงานนี้เสนอให้มีการดำเนินการจากรัฐบาลเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ของช้างที่ถูกกักขังและการใช้ประโยชน์จากช้างป่าเพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปยังสถานที่ที่มีสวัสดิภาพสูงสำหรับการสังเกตการณ์เท่านั้น ในขณะเดียวกัน บริษัทท่องเที่ยวและนักเดินทางแต่ละรายควรได้รับการกระตุ้นให้ส่งเสริมและเยี่ยมชมสถานที่ที่นําเสนอประสบการณ์การสังเกตการณ์เพียงเท่านั้น หรือเลือกที่จะสังเกตช้างอย่างมีจริยธรรมในป่า สุดท้ายนี้ รายงานเตือนเราว่าการปรับปรุงเหล่านี้ยังต้องคำนึงถึงควาญช้าง (ผู้ฝึกสอน) ที่ต้องการพัฒนาอาชีพที่จะนำพาช้างเหล่านั้นไปเกินอายุขัยของช้างที่อยู่ในความดูแลของพวกเขา